สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา 
สภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา
“วิสัยทัศน์”

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครราชสีมา

                    จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในอาณาจักรไทย แต่เดิมตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบัน ประมาณ 31 กิโลเมตร เรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” หรือ โคราช   กับ เมืองเสมา ซึ่งทั้ง 2 เมืองเคยเจริญรุ่งเรืองในสมัยขอม แต่ในปัจจุบันเป็นเมืองร้าง  ตั้งอยู่ริมลำตะคอง

                    สมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) โปรดให้สร้างเมืองโดยเอาชื่อเมืองเสมากับเมืองโคราฆะปุระ  มาผูกเป็นนามเมืองใหม่เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่คนทั่วไป เรียกว่า  “เมืองโคราช”

                    สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศเป็นเจ้าพระยา  เจ้าพระยานครราชสีมาคนแรกชื่อ  ปิ่น   ณ ราชสีมา    และในรัชกาลนี้เมืองนครราชสีมาได้นำช้างเผือก 2 เชือก ขึ้นน้อมเกล้าถวาย ต่อมาในปี พ.ศ.2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3  เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ก่อการกบฏ   ยกกองทัพมาตีเมืองนครราชสีมา   และกวาดต้อน พลเมืองไปเป็นเชลย คุณหญิงโม (ภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา{พระสุริยเดชวิเศษ ฤทธิ์ทศทิศวิชัย) ผู้รักษาเมือง   แสร้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจทหารลาว  เมื่อถูกกวาดต้อนมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตอำเภอพิมายก็หยุดพักกลางทางพอได้โอกาสคุณหญิงโมก็จัดกองทัพโจมตีกองทัพเวียงจันทน์แตกพ่ายไป วีรกรรมที่คุณหญิงโมได้ประกอบขึ้นนี้ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา คุณหญิงโม ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “ท้าวสุรนารี” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมหัวเมืองในเขตที่ราบสูงให้นครราชสีมาเป็นที่ว่าการมณฑลลาวกลาง ในปี พ.ศ. 2434 ( ร.ศ. 110 )

 ขนาดที่ตั้งและอาณาเขต

                    จังหวัดนครราชสีมา  ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  บนที่ราบสูงโคราช  ละติจูด 15 องศาเหนือ ลองติจูด 102 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 187 เมตร  ตัวจังหวัดอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์  255 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟ 264 กิโลเมตร  มีพื้นที่ 20,493.964  ตารางกิโลเมตร  หรือ ประมาณ  12,808,728  ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.12 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง  ดังนี้

                       ทิศเหนือ            ติดต่อกับ  จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดขอนแก่น

                       ทิศใต้               ติดต่อกับ  จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระแก้ว

                       ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ  จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น

                       ทิศตะวันตก        ติดต่อกับ  จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี 

ลักษณะภูมิประเทศ

                   สภาพภูมิประเทศของจังหวัดมีทั้งที่เป็นภูเขาสูง  ที่ราบลุ่ม  พื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นและพื้นที่ ลูกคลื่นลอนลึก  ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 บริเวณ  คือ

                   1)  บริเวณเทือกเขาและที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัดมีความสูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 250 เมตร อยู่ในบริเวณอำเภอปากช่อง  อำเภอปักธงชัย  อำเภอวังน้ำเขียว  อำเภอครบุรีและอำเภอ                เสิงสาง  เทือกเขานี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสายที่ไหลไปทางตะวันออกของภาค  ได้แก่ แม่น้ำมูล     ลำแชะ  ลำพระเพลิง และลำปลายมาศ พื้นที่ระหว่างเทือกเขาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลึกและ

ลูกคลื่นลอนตื้น  ตอนล่างของหุบเขามีความลาดชันค่อนข้างมาก  ทำให้มีการ     ชะล้างพังทลายของหน้าดินในบริเวณนี้ค่อนข้างสูง

2) บริเวณที่สูงทางตอนกลางของจังหวัดมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200 -250 เมตร อยู่ในเขตอำเภอด่านขุนทด  อำเภอสีคิ้ว  อำเภอเทพารักษ์  อำเภอพระทองคำ ตอนล่างของอำเภอโนนไทย    อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง อำเภอสูงเนิน  ตอนบนของอำเภอปักธงชัยและอำเภอครบุรี  อำเภอโชคชัย อำเภอหนองบุญมาก อำเภอจักราช  และอำเภอเสิงสาง  ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลูกคลื่นลอนตื้นยกเว้นบริเวณใกล้เชิงเขามีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนลึก พื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ได้แก่ ลำแชะ ลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำน้ำมูลและลำจักราช

3) พื้นที่ลูกคลื่นทางตอนเหนือของจังหวัด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร อยู่ในเขตอำเภอขามสะแกแสง  ตอนบนของอำเภอโนนไทย  อำเภอคง  ทางทิศตะวันตกของอำเภอบัวใหญ่  อำเภอบ้านเหลื่อม  อำเภอห้วยแถลง  และอำเภอชุมพวง  อำเภอลำทะเมนชัย มีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นที่สูงสลับที่นา    บางตอนเป็นพื้นที่ราบลุ่มบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำเชียงไกร  และลำปลายมาศ

4) บริเวณที่ราบลุ่มทางตอนเหนือของจังหวัด  มีความสูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 200เมตร อยู่ในเขตอำเภอบัวใหญ่ อำเภอคง อำเภอโนนสูง อำเภอประทาย อำเภอพิมาย อำเภอสีดา  อำเภอบัวลาย  และอำเภอเมืองยาง มีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น และมีที่ราบลุ่มบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ

สภาพลุ่มน้ำและการพัฒนาลุ่มน้ำ

          แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมามี 9 ลุ่มน้ำโดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ   20,905 ตารางกิโลเมตร อำเภอที่ได้รับน้ำจากลุ่มน้ำได้แก่  อำเภอชุมพวง  พิมาย ห้วยแถลง จักราช โนนสูง  เมือง  

เสิงสาง ครบุรี โชคชัย ปักธงชัย สูงเนิน ปากช่อง ขามทะเลสอ สีคิ้ว โนนไทย ประทาย โนนแดง  บัวใหญ่

ขามสะแกแสง คง แก้งสนามนาง บ้านเหลื่อม หนองบุญมาก รวม 23 อำเภอ มีรายละเอียดลุ่มน้ำต่างๆ ดังนี้

          ลุ่มน้ำมูล ต้นกำเนิดเกิดจากเขาวง และเขาละมัง ของเทือกเขาสันกำแพงในเขต อำเภอปักธงชัย 

ไหลจากทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านท้องที่อำเภอปักธงชัย จักราช วกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านอำเภอโนนสูง พิมาย  ชุมพวง ลำน้ำสายหลัก คือแม่น้ำมูล มีน้ำไหลตลอดปีและค่อนข้างมากในฤดูฝน ประชากรตามริมฝั่งลุ่มน้ำมูล  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่ นอกจากนี้ลุ่มน้ำมูลยังมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ คือโครงการเขื่อนพิมาย สร้างกั้นลำน้ำที่อำเภอพิมายรวมทั้งฝายหินทิ้ง และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร           

             ลุ่มน้ำลำมาศตอนปลาย มีลำน้ำสายหลักคือลำมาศ  ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในอำเภอเสิงสาง คือ  ลุ่มน้ำมาศตอนต้น  ไหลผ่านอำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์  แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมาเป็น   ลุ่มน้ำลำมาศตอนปลาย โดยไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่ตอนเหนือของอำเภอชุมพวง ประชากรส่วนใหญ่ตามริมฝั่งลำน้ำ ประกอบอาชีพทำนา และทำไร่เป็นส่วนใหญ่มีน้ำไหลตลอดปี แต่ฤดูแล้งจะมีปริมาณน้ำน้อยจนไม่สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้

ลุ่มน้ำลำมาศตอนต้น  มีลำน้ำสายหลักคือลำมาศ  ซึ่งเกิดจากลำห้วยเพียก ลำห้วยโทนและห้วยอื่นๆ ไหลมารวมกันแล้วไหลเข้าสู่อำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติ

ทับลาน ของอำเภอครบุรี และเสิงสาง  น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วในฤดูฝนทำให้ดินดูดซับน้ำได้น้อยเกิดการชะล้างหน้าดินสูง ทำให้ลำน้ำตื้นเขินเร็วและไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ มีโครงการชลประทานเขื่อน

ลำปลายมาศอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่ประชากรส่วนใหญ่ที่ได้รับประโยชน์อยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่ง

          ลุ่มน้ำลำจักราช  มีลำน้ำสายหลักคือลำจักราช  ซึ่งเกิดจากห้วยสาระเพ็ชร  และห้วยจักราชในอำเภอหนองบุญมาก แล้วไหลสู่แม่น้ำมูลในอำเภอพิมาย มีน้ำไหลเฉพาะช่วงฤดูฝน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่  ลำห้วยตอนต้นมีความลาดชันมาก  ราษฎรสร้างฝายเป็นช่วงๆค่อนข้างมากบริเวณลุ่มน้ำมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก

          ลุ่มน้ำลำมูลบน – ลำพระเพลิง  มีลำน้ำสายหลักคือ ลำพระเพลิง ลำมูลบน ลำแชะ และลำน้ำมูล      

มีความยาวประมาณ 224  กิโลเมตร ซึ่งไหลไปบรรจบกับลำตะคองที่อำเภอจักราช ประชากรตามลุ่มน้ำ 

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่ ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอปักธงชัยและครบุรี มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากและไหลตลอดปี   ลุ่มน้ำนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่  3 แห่ง คือ เขื่อนลำมูลบน  เขื่อนลำแชะ และเขื่อนลำพระเพลิง นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่ง

          ลุ่มน้ำลำตะคอง ต้นกำเนิดเกิดจากเทือกเขาสันกำแพง ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีลำน้ำสายหลักคือลำตะคอง  มีความยาวประมาณ  175  กิโลเมตร  ไหลขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอปากช่อง และวกไปทางตะวันออกผ่านอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน เมือง ไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประชากรตามบริเวณลุ่มน้ำส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และปลูกไม้ผล นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสัตว์ด้วย

          ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ต้นกำเนิดเกิดจากภูเขาในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีลำน้ำสายหลักคือ ลำเชียงไกร มีความยาวประมาณ 145 กิโลเมตร ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในอำเภอด่านขุนทดและไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอโนนสูงมีน้ำตลอดปีและค่อนข้างมากในช่วงฤดูฝน    นอกจากนั้นยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ฝายน้ำล้นและบ่อบาดาลอีกหลายแห่งประชากรส่วนใหญ่ตามลุ่มน้ำประกอบอาชีพทำนา  ทำไร่  และเลี้ยงสัตว์

          ลุ่มน้ำลำสะแทด ต้นน้ำอยู่ที่ห้วยปราสาทในเขตอำเภอคง  มีลำน้ำสายหลัก  คือ  ลำสะแทด มีความยาวประมาณ 35  กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่ที่อำเภอขามสะแกแสง และอำเภอคง มีปริมาณน้ำตลอดปีและค่อนข้างมากในช่วงฤดูฝน และมีฝายน้ำล้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก กั้นลำน้ำอีกหลายแห่ง ประชากรส่วนใหญ่ในลุ่มน้ำประกอบ อาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์

ลุ่มน้ำชี  มีลำน้ำสายหลักคือลำน้ำชี ช่วงผ่านจังหวัดนครราชสีมามีความยาวประมาณ  38  กิโลเมตร   มีน้ำไหลตลอดปี และมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากในฤดูฝน โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำชีของการพลังงานแห่งชาติ  ในพื้นที่อำเภอแก้งสนามนาง และแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกหลายแห่ง ประชากรส่วนใหญ่ในลุ่มน้ำประกอบอาชีพทำนา